วัดมิ่งเมือง หรือ วัดจ๊างมูบ ของชาวเชียงราย

4374

วัดมิ่งเมือง วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง พบหลักฐานว่ามีอายุกว่า 800 ปี ซึ่งยาวนานเท่ากับการสร้างเมืองเชียงราย
พระธาตุมิ่งเมือง เป็นปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดเชียงราย แต่เดิมเป็นวัดไทใหญ่ เนื่องด้วยในสมัยก่อนมีชุมชนไทใหญ่อาศัยอยู่รอบบริเวณวัด ประกอบกับมีศิลปะของศาสนสถานและศาสนวัตถุแบบพม่า จึงเรียกขานกันว่าเป็น วัดเงี้ยว แต่ชื่อที่คุ้นหูของชาวเชียงรายคือ “วัดจ๊างมูบ” ซึ่งเป็นชื่อเรียกภาษาเหนือที่แปลว่า “วัดช้างหมอบ”
ปัจจุบันภายในวัดยังคงมีโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่หลายอย่าง ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปะผสมศิลปะล้านนากับศิลปะพม่า และมีปูชนียวัตถุสำคัญคือ พระบรมสารีริกธาตุประดดิษฐาน ณ พระเจดีย์โบราณ ที่ได้รับการประธานจาก สมเด็จพระญาณสังวรณ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
องค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 80 นิ้ว เป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์ ๑ ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมมาถึง ๔ ครั้งมีอายุถึง ๔๐๐ กว่าปี มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามตามพุทธศิลป์แบบเชียงแสนสิงห์ ๑ ยุคต้น โดยเฉพาะที่ยอดพระเกตุโมฬีเป็นรูปดอกบัวตูมแกะสลักจากหินแก้วจุยเจีย หรือแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น ประดิษฐานไว้ในวิหารไทใหญ่ประยุกต์ ผสมผสานกับรูปแบบของวิหารล้านนา ภายในตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักลงรักปิดทอง ประกอบกับการกรุฝ้าเพดานแบบไตรภูมิและบราลีเป็นรูปหงส์จำนวน ๓๔ ตัว